top of page
อัลบั้มเครื่องเงินวัวลาย

ลายสิบสองนักษัตรของเชียงใหม่

❁ ลายสิบสองนักษัตรของเชียงใหม่มีอายุกว่า 100 ปีมาแล้ว และมีความแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ตรงที่ปีกุนเป็นรูปช้าง ไม่ใช่รูปหมูอย่างที่อื่น ขันเงินใบหนึ่งมักมีลายหลายอย่างผสมผสานกัน เช่น ลายนักษัตรมีรูปสัตว์อยู่ในกรอบรูปต่าง ๆ เช่น กรอบรูปแหลม หรืออาจจะมีรูปลิงหลายตัวต่อ ๆ กัน โดยที่กรอบหนึ่ง ๆ เรียกว่า โขงหนึ่ง ขันขนาดใหญ่จะมีครบทั้ง 12 ราศีในกรอบ 12 กรอบซึ่งก็จะเรียกว่า 12 โขง

ลายดอกกระถิน

❁ ลายดอกกระถินมีลักษณะเป็นลายดอกที่เป็นตะแกรงถี่นูนรูปกลมมีใบยาวขึ้นไปตอนบน 2 ด้าน เหมือนเขาสัตว์ซึ่งไม่เหมือนใบกระถินจริง ๆ ส่วนลายดอกทานตะวันและลายสับปะรดนั้นดัดแปลงมาจากดอกกระถินอีกต่อหนึ่ง ลายดอกทานตะวันมีรูปดอกแบบเดียวกับดอกกระถินแต่แทนที่จะมีใบยาวแหลม 2 ใบขึ้นข้างบนก็มีกลีบเล็ก ๆ รอบ ๆ เกสรดอกเป็นกลีบทานตะวัน ลายบนสลุงเชียงใหม่นั้นมักไม่เสมอกันทุกกลีบ แต่อาจมีกลีบ 3–4 กลีบที่ยื่นยาวกว่าส่วนอื่น และมักยื่นขึ้นไปตอนบน ส่วนลายสับปะรดนั้นเหมือนดอกกระถินทุกอย่างแต่ตัวดอกหรือตัวสับปะรดนั้นจะเป็นรูปรียาวกว่าดอกกระถินซึ่งกลม

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนวัดศรีสุพรรณอื่น

❁ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนวัดศรีสุพรรณอื่น ๆ อาทิ ข้อแข้งข้อขา (กำไลข้อเท้า) เป็นเครื่องประดับ สำหรับเด็กผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องประดับทั่วไปและโต๊ะใส่เมี่ยงเพื่อถวายพระที่มีลวดลาย ที่สวยงามซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาได้ยากในปัจจุบัน

เครื่องเงินวัวลาย

❁ ในการทำเครื่องเงิน ชาวชุมชนวัดศรีสุพรรณจะเริ่มจากการวาดรูปลวดลายที่บนตัวชิ้นงานก่อนแล้วจึงตอกลายจากด้านในให้นูนขึ้นตามแบบที่ร่างไว้ด้านนอก กระบวนการนี้เรียกว่าการ "ดุน"
❁ หลังจากนั้นจะใส่ "ชัน" (วัสดุเนื้อสีดำ มีความเหนียว หลอมเหลวได้ที่ความร้อนสูง) อัดไว้ในโพรงที่ดุนไว้ แล้วพลิกชิ้นงานกลับอีกด้านหนึ่ง นำมาวางบนแท่น แล้วทำการตอกลาย หรือ "บุ" เป็นลายต่าง ๆ ต่อไป รวมสองเทคนิคนี้เข้าด้วยกันจึงเรียกว่า "การบุดุน"

การทำเครื่องเงินวัวลาย

WUA LAI SILVER

Wualai street Chaingmai 50100

©2016 by Watsrisuphan. Proudly created with Wix.com

bottom of page